พระซุ้มเสมาทิศ วัดอรัญญิก

พระซุ้มเสมาทิศ วัดอรัญญิก


ขอขอบคุณภาพจาก:http://www3.g-pra.com/auctionc/view.php?aid=12360679

"พระซุ้มเสมาทิศ" บางท่านก็เรียก พระซุ้มระฆัง ซึ่งเดิมชื่อว่า "พระซุ้มคอระฆัง" มีการแตกกรุเป็นครั้งแรกมานานกว่า 100 ปี ตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายายโน้นที่วัดอรัญญิก ซึ่งสันนิษฐานว่าในสมัยก่อนน่าจะเป็นวัดที่ใหญ่โตเจริญรุ่งเรืองมาก่อน สืบเนื่องจากหลักฐานซากพราะเจดีย์ทั้งองค์ใหญ่องค์เล็กที่ปรักหักพังครอบ คลุมบริเวณกว้าง แต่ต่อมากลายสภาพเป็นวัดร้าง ณ ปัจจุบันเป็นเพียงวัดเล็กๆ มีพระภิกษุจำพรรษาอยู่เพียงไม่กี่รูป ลบล้างภาพความรุ่งเรืองในอดีตอย่างสิ้นเชิง เป็นที่น่าเสียดายยิ่ง

พระซุ้มเสมาทิศ วัดอรัญญิก มีขนาดกะทัดรัด และน้ำหนักเบา สะดวกต่อการบูชาติดตัว ส่วนฐานล่างความกว้างประมาณ 3 ซ.ม. และส่วนสูงจากฐานถึงยอดบนสุดประมาณ 5.9 ซ.ม. พุทธลักษณะองค์พระประธานเป็นพระพุทธรูปขนาดจิ๋ว มีพุทธศิลปะแบบพระพุทธรูปอู่ทอง หรือไม่ก็แบบตะกวนหรือแบบลังกาประทับนั่งแสดงปางมารวิชัย เหนืออาสนะเป็นเส้นขีดรับหนึ่งชั้น ต่อด้วยตุ่มรับอีก 2 ชั้น ถัดมาเป็นฐานใหญ่เป็นเส้นตรงรองรับอีกชั้นหนึ่ง อยู่ภายในซุ้มคอระฆังใหญ่ ลักษณะเป็นเส้นคู่ภายในมีเม็ดไข่ปลา เรียงรายโดยรอบอย่างสวยงาม ปลายซุ้มทั้งสองข้างแต่งเป็นลายกนกรูปเศียรพญานาค เหนือเส้นซุ้มเป็นลายเถาซ้อนกัน 3 ชั้น เหนือลายเถาเป็นยอดแหลมมีบัวรองรับ ส่วนฐานล่างสุดถัดจากฐานใหญ่เป็นเส้นขีดทแยงเข้าหากันในลักษณะ "บัวก้างปลา" อันเป็นความงดงามอลังการที่โดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์พระกรุ

และด้วยพุทธลักษณะของ "พระซุ้มเสมาทิศ" ที่มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ดังกล่าว กอปรกับพุทธคุณที่ปรากฏเป็นที่กล่าวขานกันในด้านแคล้ว คลาด มหาอุดและคงกระพันชาตรีเป็นเลิศ จึงกลายเป็นที่นิยมสะสมและแสวงหาของนักนิยมสะสมพระเครื่องนับแต่สมัยนั้นเป็นต้นมา จนถึงประมาณปี พ.ศ.2505 ได้มีการจัดกิจกรรมการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ของนักเรียน ให้ทำการพัฒนาพื้นที่บริเวณโดยรอบวัดอรัญญิกปรากฏว่าเด็กเหล่านั้นได้พบโพรง ที่บรรจุ "พระซุ้มเสมาทิศ" โดยบังเอิญ ตกลงว่าจากการพัฒนาพื้นที่จึงกลายมาเป็นการปิดกรุพระเครื่องไปโดยปริยาย จึงเรียกกันว่า "กรุใหม่"

พระซุ้มเสมาทิศ วัดอรัญญิก ที่แตกกรุเป็นครั้งแรกมีทั้งพระเนื้อดินเผาและเนื้อชิน แต่สำหรับ "พระซุ้มเสมาทิศ วัดอรัญญิก กรุใหม่" จะเป็นเนื้อชินสนิมดำทั้งหมด

พันธู์แท้พระเครื่อง
ราม วัชรประดิษฐ์